ลกซุน แม่ทัพหนุ่มของง่อก๊ก หลายท่านคงรู้จักกัน
ในฐานะผู้ที่เผาทำลายทัพของเล่าปี่จนย่อยยับ
นำมาสู่ความพ่ายแพ้และความตายของกวนอู
Centrovirtual จะพาคุณไปรู้จักเค้ากัน

ลกซุน
แม่ทัพคนสำคัญอีกคนของง่อก๊ก ผู้เผาทัพใหญ่ของเล่าปี่ในศึกอิเหลงจนย่อยยับ เล่าปี่ต้องหนีซมซานไปยังเมืองเป๊กเต้และตรอมใจตายในที่สุด ซึ่งก่อนหน้านั้นเล่าปี่ได้ดูถูกลกซุนว่าเป็น “เด็กอมมือ” เพราะขณะนั้นลกซุนอายุยังน้อย (39 ปี) และไม่มีชื่อเสียงนัก
ลกซุนมีชื่อรองว่า “ป๋อเหยียน” กำพร้าบิดาตั้งแต่เด็ก อาศัยอยู่กับลกคัง เจ้าเมืองโลกั๋ง ผู้เป็นลุง ต่อมาอ้วนสุดขอยืมเสบียงจากลกคัง แต่ลกคังไม่ยินยอม ทำให้อ้วนสุดสั่งซุนเซ็กโจมตีเมืองโลกั๋ง ลกคังจึงส่งลกซุนและครอบครัวมาหลบภัยที่กังตั๋ง
ต่อมาลกซุนได้รับราชการกับง่อก๊ก โดยเริ่มต้นเป็นขุนนางชั้นผู้น้อยในสังกัดของซุนกวน ลกซุนเป็นขุนนางบัณฑิตที่มีสติปัญญา ชำนาญพิชัยสงคราม มีผลงานในการปกครองและปราบโจร ซุนกวนชื่นชอบในความสามารถของลกซุน จึงเลื่อนตำแหน่งให้หลายครั้ง และให้แต่งงานกับบุตรสาวของซุนเซ็ก หลานสาวของตน
ลกซุนเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในแผนการยึดเกงจิ๋วของลิบอง ซึ่งแม้เป็นศึกใหญ่ครั้งแรกของลกซุน ก็สามารถลวงกวนอู (ซึ่งเป็นเจ้าเมืองเกงจิ๋วในขณะนั้น) ให้ตายใจ แล้วเข้ายึดเกงจิ๋วไว้ได้ เป็นเหตุให้กวนอูถูกจับและประหารชีวิต
ต่อมาลกซุนได้ผู้บัญชากองทัพง่อก๊กในศึกอิเหลง ป้องกันการบุกโดยทัพใหญ่ของเล่าปี่จำนวน 700,000 คน ซึ่งยกทัพมาแก้แค้นให้กวนอูและเตียวหุย (ซึ่งถูกลอบสังหารขณะจัดเตรียมทัพ) ลกซุนใช้ยุทธวิธีเผาค่ายเล่าปี่จนย่อยยับและรุกไล่ตามเล่าปี่ แต่กลับเข้าไปหลงอยู่ในกองหินค่ายกลที่ขงเบ้งสร้างไว้ก่อนหน้า ลกซุนหาทางออกไม่ได้ แต่ได้ฮองเซ็งหงัน พ่อตาของขงเบ้งผ่านมาช่วยเหลือและเปิดเผยว่า ขงเบ้งเคยบอกก่อนหน้านี้ว่า ต่อไปจะมีแม่ทัพง่อก๊กหลงเข้ามาในนี้ ขออย่าได้ช่วย แต่ฮองเซ็งหงันได้พาลกซุนออกมาอย่างปลอดภัย ลกซุนจึงเลิกทัพกลับกังตั๋ง
แม้ลกซุนมีผลงานมากมาย แต่สุดท้ายขัดแย้งกับซุนกวนเพราะสนับสนุนรัชทายาทซุนโห ทำให้ซุนป๋าบุตรของซุนกวนอีกคนไม่พอใจ ใส่ร้ายลกซุนมากมาย จนซุนกวนปลดจากตำแหน่งและส่งคนมาตำหนิต่อว่า ทำให้ลกซุนโกรธและเสียใจจนตรอมใจตาย
ชื่อเสียงดี ไม่หวั่นคำนินทา
แม้เคยมีบทบาทในฐานะผู้เสนอความเห็นต่อลิบองจนสามารถดับยอดขุนศึกอย่างกวนอู และดึงเกงจิ๋วกลับมาคืนให้ง่อก๊กได้ แต่สำหรับบทบาทด้านการบัญชาการรบลกซุนนั้น แทบไม่เคยปรากฏผลงานชิ้นใหญ่เป็นที่ยอมรับ ความรับผิดชอบในฐานะผู้บัญชาการรบศึกอิเหลงที่ต้องต่อกรกับสิงห์เฒ่าอย่างเล่าปี่ ลกซุนต้องแบกรับแรงกดดันมหาศาลกดดันจากข้าศึกเจ็ดแสนคนของเล่าปี่ กดดันจากแม่ทัพนายกองใต้บังคับบัญชาที่ไม่ยอมรับในตัวเขา และเมื่อเป็นสงครามที่เกี่ยวพันกับความอยู่รอดของง่อก๊กแล้วความกดดันจึงเป็นเท่าทวี.
ลกซุนเกิดในตระกูลใหญ่ของแดนใต้มีภาพลักษณ์เป็นบัณฑิตผู้คงแก่เรียนมากกว่านักรบ เมื่อครั้งลิบองประจำการที่ลกเค้า ประจันหน้ากับกวนอู กวนอูเฝ้าระวังเกงจิ๋งอย่างยิ่งเนื่องจากลิบองเป็นขุนศึกมีฝีมือ ลกซุนเสนอให้ลิบองลาป่วยและสับเปลี่ยนเขามารักษาการณ์แทน ลกซุนแสดงความนอบน้อมต่อกวนอู จนกวนอูคลายความระวังยกทัพไปตีวุยก๊ก ลิบองจึงนำทัพแอบตีตลบจนยึดเกงจิ๋วคืนจากจ๊กก๊กได้ และส่งกวนอูไปสู่สวรรค์ในที่สุด
การสิ้นชีพของกวนอูสะเทือนไปทั้งสามก๊ก พระเจ้าเล่าปี่และเตียวหุยโกรธจนแทบคลั่ง เล่าปี่ไม่ฟังคำทัดทานของเหล่าขุนนางแม้แต่ขงเบ้งและจูล่ง ระดมทัพเจ็ดแสนเคลื่อนบุกง่อก๊ก ประกาศล้างแค้นให้กวนอู มิหนำซ้ำระหว่างเตรียมทัพ เตียวหุยยังโดนฮอมเกียงและเตียวตัด สองทหารใต้บังคับบัญชาลอบสังหารและถูกตัดศรีษะไปจิ้มก้องต่อซุนกวน กระพือให้เพลิงแค้นของเล่าปี่ลุกโหมเข้าไปอีก
ซุนกวนเมื่อรู้ว่าเล่าปี่ยกทัพมามากมายก็หาวิธีต่างๆ รับมือ ทางหนึ่งก็ส่งแม่ทัพไปยันทัพจ๊กก๊กไว้ก่อน ทางหนึ่งก็ส่งทูตไปยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าโจผีหวังให้ช่วยกันรับศึก เมื่อเห็นจวนตัวแล้วว่าทัพจ๊กก๊กเอาจริง ซุนกวนก็ส่งตัวฮอมเกียงกับเตียวตัด สองวายร้ายที่สังหารเตียวหุยใส่กรงมาให้พร้อมทั้งข้อเสนอว่าจะคืนซุนฮูหยินน้องสาวซุนกวน ภรรยาเล่าปี่ ซึ่งซุนกวนเคยใช้อุบายหลอกน้องสาวกลับมากังตั๋งคืนให้เล่าปี่ เล่าปี่ไม่ต่อรองอะไรทั้งสิ้นเขามุ่งหวังจะล่มง่อก๊กให้ได้ในศึกนี้ งำเต๊กที่ปรึกษาคนสำคัญเสนอให้เรียกลกซุนมารับศึก แต่ขุนนางอาวุโสอย่างเตียวเจียว โกะหยง เปาจิด ต่างเห็นว่าลกซุนนั้นอายุน้อย ซ้ำเป็นขุนนางฝ่ายพลเรือนที่ไม่มีผลงานทางการทหารไม่ควรที่จะให้รับศึกใหญ่
งำเต็กเห็นแววว่าลกซุนสามารถรับงานใหญ่หลวงนี้ได้ สนับสนุนลกซุนถึงขนาดเอาชีวิตครอบครัวเป็นประกัน ซึ่งตรงกับใจของซุนกวนที่เล็งเห็นว่าลกซุนรับภาระหนักนี้ได้ ซุนกวนทำพิธีมอบตราตั้งใหญ่โต และมอบกระบี่อาญาสิทธิ์ให้ลกซุนไว้บัญชาการกองทัพ
ผู้ใต้บังคับบัญชาของลกซุนในครั้งนั้นล้วนแต่เป็นแม่ทัพเก๋าเกมส์ของง่อก๊กอย่างฮันต๋ง จิวท่าย ชีเซ่ง และเตงฮอง ฮันต๋งเป็นแม่ทัพรุ่นบุกเบิกของกังตั๋งมาแต่ครั้งซุนเกี๋ยนพ่อซุนกวน จิวท่ายก็ออกรบปกป้องซุนกวนมาหลายสมรภูมิ แผลเต็มร่างกายบนตัวเขาเป็นเกียรติยศที่ซุนกวนเคยประกาศยกย่อง ชีเซ่งและเตงฮองเก็เป็นขุนพลชำนาญศึกเช่นกัน
แม่ทัพเหล่านี้เห็นซุนกวนแต่งตั้งลกซุนมาบัญชาทัพก็ไม่พอใจ แต่ทำได้เพียงแสดงท่าทีฮึดฮัด เพราะลกซุนมีกระบี่อาญาสิทธิ์อยู่ในมือ ขุนพลและทหารทั้งหลายรู้สึกขัดใจและดูหมิ่นลกซุน ที่เอาแต่ตั้งมั่นไม่ยอมออกรบไม่แม้แต่กระทั่งส่งทหารออกไปช่วยซุนหวน หลานซุนกวนที่ถูกทัพพระเจ้าเล่าปี่ล้อมไว้ ณ เมืองอิเหลง
แต่ลกซุนเห็นว่าเมื่อหาทางเอาชัยทัพเล่าปี่ได้ ทหารจ๊กก๊กที่ล้อมเมืองอิเหลงไว้ก็จะคลายไปเอง ลกซุนนั้นรู้ดีว่าขวัญทหารจ๊กก๊กนั้นร้อนแรง เพราะรบชนะตามรายทางมาโดยตลอด ทหารจ๊กก๊กออกท้าทายทหารง่อก๊กด้วยวาจาและท่าทางหยาบคายต่างๆ นานา แต่ลกซุนก็สั่งให้ทหารทั้งหมดสงบนิ่ง เพื่อรอเวลาที่เหมาะสมในการลงมือ ทุกคนแม้ไม่อาจขัดได้เพราะลกซุนถืออาญาทัพไว้โดยตำแหน่ง แต่กิริยาท่าทางล้วนแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ได้มีความนับถือแม่ทัพหนุ่มคนนี้เลย
บางคนถึงขนาดหัวเราะเยาะซึ่งหน้า และถากถางลกซุนอย่างรุนแรง แม่ทัพเฒ่าและเหล่าทหารต่างก็รบเร้าให้ลกซุนออกคำสั่งรบ แต่เขาเองไม่หวั่นไหวไปกับกระแสกดดันและคำเหยียดหยามเหล่านั้น ย้ำคำสั่งให้เหล่าทหารสงบนิ่งในที่ตั้งแม้เล่าปี่ทำกลลวงต่างๆ ลกซุนก็ไม่ได้หลงกลออกไปรบกับเล่าปี่
จนเมื่อทัพเล่าปี่อ่อนแรง ยกเข้าไปตั้งค่ายในป่าเรียงรายตามริมน้ำยาว 700 ลี้ เป็นโอกาสที่ลกซุนรอมาเนิ่นนาน เขาจัดแจงวางกำลังและมอบหมายหน้าที่ให้แม่ทัพขุนพลดำเนินการตามแผน จนสามารถเผาทัพของพระเจ้าเล่าปี่ทั้งเจ็ดแสนนายวอดวายเกือบทั้งหมด แม้แต่พระเจ้าเล่าปี่เองยังแทบอาชีวิตไม่รอด จนเป็นสาเหตุของการตรอมใจและสิ้นชีพที่เมืองเป๊กเต้ในที่สุด
ลกซุนอาจเก่งกาจในด้านวางแผนการรบ แต่ก็ไม่อาจนำทัพบุกบั่นเข้าชิงชัยอย่างห้าวหาญได้เทียบเท่าเหล่าขุนพลคนอื่นๆ ใต้บังคับบัญชา ในสถานการณ์ที่ลูกน้องอาวุโสกว่า เชี่ยวชาญมากกว่า ที่สำคัญคือมีไฟหรือมีความกระเหี้ยนกระหือรือสูงมาก เขาต้องใช้อำนาจที่มีเป็นเครื่องมือปกครองอย่างเข้มงวด เพื่อคุมสถานการณ์ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้
สภาพความกดดันทั้งภายนอกและภายใน ไม่อาจกระทบกระเทือนต่อการทำหน้าที่ของลกซุน นั่นเป็นเพราะเขาไม่บุ่มบ่ามกระทำการ ไม่รีบเร่งสร้างผลงานเพื่อให้ลูกน้องยอมรับ ลกซุนยอมโดนด่าว่าขี้ขลาด ไร้น้ำยา เพื่อใช้เวลาพิจารณาสภาพของคู่แข่งอย่างรอบคอบ เพราะมีทหารน้อยกว่าฝ่ายพระเจ้าเล่าปี่มาก เขาจึงต้องใช้ทหารอย่างระมัดระวังที่สุด และเมื่อสบโอกาสที่รอคอย เขาก็สามารถใช้น้อยชนะมากสร้างตำนานให้ศึกอิเหลง โดดเด่นเป็นหนึ่งในมหาศึกสมัยสามก๊ก เคียงคู่กับศึกกัวต๋อ และศึกเซ็กเพ็กได้อย่างลือลั่น
ลกซุน ไม่จิ๊กโก๋
ถ้าเป็นสมัยนี้คงใช้คำนี้ ลกซุน ไม่แมน บางคนกล่าวถึงเขาว่า ลูกผู้ชายไม่รบอย่างชาย แต่ชัยชนะของเค้าเป็นบทเรียนที่ดี และพิสูจน์ความสามารถของแม่ทัพหนุ่มคนนี้ได้อย่างชัดเจน เขาเป็นคนหนุ่มมีฝีมือและสติปัญญาไม่แพ้หรืออาจจะเหนือกว่าจิวยี่ด้วยซ้ำ ผลงานเลื่องชื่อของลกซุนคือการวางแผนตีเอาเมืองเกงจิ๋วจากกวนอู การเผาทัพพระเจ้าเล่าปี่ และการตีโต้กองทัพจากเมืองหลวงของพระเจ้าโจผี นับเป็นผลงานอันเอกอุระบือโลกที่เล่าไปข้างต้นแล้วนั้น
แต่เราเคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมชื่อชั้นของลกซุน จึงไม่อาจขึ้นสู่แนวหน้าของวรรณกรรมเรื่องสามก๊ก เฉกเช่นตัวละครอื่น ๆ ได้เลย
หนังสือพิชัยสงครามสามก๊ก ของสังข์ พัธโนทัย เขียนประวัติของลกซุน ไว้อย่างย่อ ๆ ดังนี้
ลกซุนเป็นชาวตำบลอู๋ เมืองอู๋จวิ้น มณฑลเจียงซู มีชื่อรองว่า ป้อเอี๋ยน สูง 8 ฟุต หน้าหยก ซื่อตรง ใจกว้าง ใครเห็นใครรัก ชำนาญในพิชัยสงครามอย่างยอดเยี่ยม ปกครองทหารอยู่ในระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด มีความรู้ทางอักษรศาสตร์อย่างดี
เข้ารับราชการอยู่ในทำเนียบของซุนกวน ออกศึกครั้งแรกร่วมกับลิบอง แม่ทัพเรือประจำลกเค้า ได้รับแต่งตั้งเป็นอิ้วตูตุ๊ (แม่ทัพซ้าย) ลวงกวนอู เจ้าเมืองเกงจิ๋วให้ตายใจ แล้วเข้าตียึดเกงจิ๋วไว้ได้ และกวนอูถูกจับประหารชีวิต
ครั้นเล่าปี่ยกทัพมาตีกังตั๋ง เพื่อแก้แค้นแทนกวนอู ซุนกวนตั้งลกซุนเป็นต้าตูตุ๊ (แม่ทัพใหญ่) ให้ออกรบต่อต้าน ลกซุนใช้ยุทธวิธีเอาไฟเผากองทัพเล่าปี่เสียหายย่อยยับ พระเจ้าเล่าปี่หนีไปสิ้นพระชนม์ที่เมืองเป๊กเต้เสีย
สิ้นศึกได้เลือนยศเป็น ฝู่กั๊วะเจียงจวิน (นายพล) ครองแคว้นเกงจิ๋ว มีบรรดาศักดิ์เป็น เจียงหลิงโหว (พระยา)
ต่อมาได้เลือนขึ้นเป็นไจเสี่ยง (สมุหนายก) ตอนใกล้จะตายมีความเห็นขัดแย้งกับพระเจ้าซุนกวนในเรื่องตั้งพระมเหสี พระเจ้าซุนกวนกริ้ว ลกซุนเลยตรอมใจตาย
ไม่แมน ในที่นี้มิใช่ว่าลกซุนจะเป็นสาวประเภทสองหรืออื่นใด เพียงแต่จะเปรียบเปรยว่า ลกซุน เป็นแม่ทัพคนหนึ่งที่ถูกตำหนิว่าใช้วิธีการที่ไร้คุณธรรม ไม่รบกับซึ่งหน้า แต่ใช้วิธีลับหลัง ถ้าเป็นภาษาฝรั่งก็คงจะต้องบอกว่า ลกซุนไม่ “Fight Like Men”
ลกซุนเป็นแม่ทัพประเภทใช้สติปัญญา และเล่ห์กลในการตัดสินปัญหา เขารู้จักวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของตนเองและข้าศึก “รู้เขา รู้เรา รบร้อยมิพ่าย” ตรงตามหลักพิชัยสงครามซุนวู ทุกกระเบียดนิ้ว
การเขียนจดหมายแสร้งอ่อนน้อมต่อกวนอู แล้วกลับมาลอบตีนั้น อาจจะเป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้ลกซุนดูด้อยค่า ไร้ราคา ซึ่งเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นจริง ทั้งในวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ เป็นการสู้รบแบบที่ไม่สมกับคำว่าชายชาติทหาร แม้ต่อมาจะพอแก้ข้อครหานี้ได้บ้างในการเผาทัพพระเจ้าเล่าปี่ และตีโต้ทัพพระเจ้าโจผีได้ในเวลาไล่เลี่ยกัน รวมทั้งขับไล่ชนเผ่าป่าเถื่อนออกจากแผ่นดินกังตั๋งอีกหลายครั้งหลายครา เป็นผลงานชั้นเอก ที่แม่ทัพกังตั๋งคนก่อน ๆ ไม่เคยมีใครทำได้ ไม่ว่าจะเป็น จิวยี่ โลซก หรือ ลิบอง
ลกซุน เป็นยอดแม่ทัพบนแผ่นดินกังตั๋ง แต่ชื่อชั้นกลับอ่อนด้อย อีกทั้งคนที่ตำหนิลกซุนอย่างรุนแรงที่สุด มิใช่ใครอื่น เขาคือ “เผยซงจื่อ” นักประวัติศาสตร์ผู้ที่เขียนอรรถาธิบายต่อท้ายไว้ในสามก๊กฉบับจดหมายเหตุ (สามก๊กจี่) ของตันชิ่วนั่นเอง
ในชีวประวัติของลกซุน มีอยู่ตอนหนึ่งที่เขียนถึงศึกเมืองซงหยง
ปี ค.ศ.236 ซุนกวนส่งลกซุนและจูกัดกิ๋น มาโจมตีเมืองซงหยงของฝ่ายวุย ซึ่งในเวลานั้นมีพระเจ้าโจยอยเป็นกษัตริย์ ลกซุนเขียนจดหมายขอกำลังเสริมจากซุนกวน แต่พลนำสารถูกจับได้ จูกัดกิ๋นและลกซุนจึงต้องถอยทัพ
ก่อนจะถอยทัพ ลกซุนได้ทำอุบาย “ปลูกถั่วปลูกมัน” เพื่อลวงให้ฝ่ายวุยก๊กงุนงง คิดว่าการปลูกถั่วปลูกมันเป็นการเตรียมเสบียงอาหาร เพื่อทำการบุกเข้าตี ฝ่ายวุยจึงลังเล ไม่กล้าติดตาม กองทัพกังตั๋งจึงลงเรือยกทัพกลับไป
ระหว่างการเดินทางกลับ ลกซุนให้ทหารจอดเรือแวะพักผ่อนล่าสัตว์ที่ชายแดนเมืองของวุยก๊ก ขณะเดียวกันก็ให้ทหารส่วนหนึ่งลอบเข้าไปรุกรานหัวเมืองต่าง ๆ โดยให้ทหารเข้าไปรุกรานฆ่าฟันชาวบ้าน เผาทำลายหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านเหล่านั้นต้องพากันหลบหนีไปยังค่ายของเมือง สือหยาง
ทหารวุยก๊กในเมืองสือหยาง เห็นชาวบ้านเข้ามากันมากก็เกรงจะเป็นอุบายของฝ่ายกังตั๋ง จึงรีบปิดประตูเมือง และสังหารคนที่คิดจะฝ่าเข้ามาในเมือง
ข้างฝ่ายทหารลกซุน สามารถจับตัวชาวบ้านเป็นเชลยได้หลายพันคน ลกซุนจึงสั่งการให้ดูแลชาวบ้านเหล่านั้นเป็นอย่างดี ให้เสื้อผ้าอาภรณ์ ทรัพย์สินเงินทอง และข้าวปลาอาหาร แล้วปล่อยตัวไป ชาวบ้านหลายคนดีใจ จึงแพร่ข่าวความเมตตาของลกซุน ทำให้หลายคนยอมเข้าด้วยกับฝ่ายง่อ
เผยซงจื่อ ผู้เขียนอรรถธิบายในจดหมายเหตุจึงตำหนิลกซุนอย่างตรงไปตรงมาว่า
“ลกซุนสามารถถอยทัพกลับกังตั๋งอย่างปลอดภัย แต่กลับเลือกที่จะรุกรานพลเมือง แล้วแสร้งทำดีเพื่อซื้อใจ ฝ่ายง่อจึงได้ชาวบ้านไปเข้าด้วยหลายพันคน กระนั้นทั้งวุยและง่อก็มิไม่มีผลได้ผลเสียต่อคนจำนวนนี้”
อย่างไรก็ตาม ชีวิตของผู้บริสุทธิ์ต้องถูกเข่นฆ่าไปมากมายโดยเปล่าประโยชน์ นี่มิใช่วิสัยของนักการทหาร การกระทำนี้ต่างกับเมื่อครั้งขงเบ้งรบกับวุยก๊กอย่างสิ้นเชิง (ขงเบ้งไม่เคยเข่นฆ่าพลเมืองผู้บริสุทธิ์) นี่คือการละเมิดกฏของสงคราม ผลกรรมนี้ทำให้ง่อก๊กต้องล่มสลายในรัชสมัยของซุนโฮ”
“ลกซุนแสร้งทำเป็นมีเมตตา เปรียบเหมือนช่วยลูกนก หลังจากที่เผาทำลายป่าและฆ่านกทั้งฝูง นี่เป็นการสังหารหมู่อันโหดร้ายที่ไม่อาจนำความเมตตาตื้น ๆ มาลบล้างได้”
เมื่อได้อ่านความคิดเห็นของเผยซงจื่อ ในลักษณะข้างต้นนี้แล้ว ย่อมเป็นที่คาดเดาได้ว่า แม้ลกซุนจะมีผลงานล้ำเลิศ และมีสติปัญญาสูง แต่วิธีการของเขาเป็นไปในลักษณะที่ไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ วิถีแห่งความเป็นลูกผู้ชาย ใช้อุบายไม่สมชายชาติทหาร
ในการสงครามไม่ว่ายุคสมัยไหน ย่อมมีกฏ มีเกณฑ์ที่กองทัพคู่สงครามทั้งสองฝ่ายยอมรับเสมอ สมัยนี้เรียกว่า “กฎการปะทะ” Rules of Engagement (ROE) ซึ่งตามทัศนะของ เผยซงจื่อ ชี้ให้เห็นว่าเขาไม่ยอมรับลกซุนในจุดนี้ วิถีแห่งลกซุน จึงไม่ได้รับการยอมรับมากเท่ากับตัวละครอื่น ๆ
เป็นลูกผู้ชายก็ควรสู้เยี่ยงชาย
ขอขอบคุณบทความประวัติศาสตร์ โดย ufabet.com